ผลงานครู
ชื่อเรื่อง การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและ
วัฒนธรรม เรื่อง หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือกันเทคนิค STAD
ผู้วิจัย นายไกรภพ ทองระย้า ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
โรงเรียนมัธยมหนองศาลา อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ
ปี พ.ศ. 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ1)เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เรื่อง หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1 โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือกันเทคนิค STAD โดยนักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ร้อยละ 80 ขึ้นไป และ 2) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือกันเทคนิคSTAD กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เรื่อง หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนมัธยมหนองศาลา อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ ที่กำลังเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 33 คน ด้วยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selection) การดำเนินการวิจัยครั้งนี้
ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ประกอบด้วยวงจรปฏิบัติการ 7 วงจร เครื่องมือที่ใช้ ในการวิจัย แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้
แบบกลุ่มร่วมมือกันเทคนิค STAD จำนวน 7 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่
แบบทดสอบย่อยท้ายวงจร แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน แบบบันทึกผลการสอนของครู และแบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือกันเทคนิค STAD และ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ค่าสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และค่าร้อยละ (Percentage)
ผลการวิจัยพบว่า
1. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือกันเทคนิค STAD เรื่องหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เฉลี่ยร้อยละ 84.39 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คือ ร้อยละ 80 โดยมีจำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ 28 คน คิดเป็นร้อยละ 84.85 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ ที่กำหนดไว้ ร้อยละ 80
2. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้
แบบกลุ่มร่วมมือกันเทคนิค STAD กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เรื่องหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา โดยรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.50)